Last updated: 25 มี.ค. 2568 | 97 จำนวนผู้เข้าชม |
ภาวะหัวใจล้มเหลวในชูการ์ไกลเดอร์ (Heart failure in sugar glider)
โดยคุณหมอเจเจ (น.สพ.จิรสิน จินตนาภูษิต)
น้องชูการ์ไกลเดอร์ เพศเมีย อายุ 1 ปี มีอาการหายใจหอบเหนื่อยเฉียบพลัน เจ้าของจึงรีบพามาพบคุณหมอ เมื่อคุณหมอตรวจร่างกายพบว่ามีอาการหายใจลำบากรุนแรง เบื้องต้นจึงพักในตู้ออกซิเจนก่อน จากนั้นจึงพิจารณา X-ray ช่องอกเพื่อหาความผิดปกติ พบว่ามีลักษณะของเหลวในช่องอก และมีรอยโรคเหมือนมีของเหลวในถุงลมปอด ขอบเขตเงาหัวใจไม่ชัดเจน คุณหมอจึงพิจารณาให้ยาขับน้ำเพื่อลดการท่วมของของเหลวในบริเวณดังกล่าว และ X-ray ช่องอกซ้ำพบว่าของเหลวที่พบก่อนหน้าได้หายไปแล้ว เห็นขอบเขตเงาหัวใจชัดเจนและพบว่าหัวใจโต จึงพิจารณาตรวจหัวใจด้วยการอัลตราซาวน์และพบว่ามีความผิดปกติของกล้ามเนื้อหัวใจในการบีบตัว เมื่อน้องมีอาการคงที่คุณหมอจึงจัดยาให้กินต่อเนื่องและนัดกลับมาติดตามอาการต่อไป
โรคหัวใจในชูการ์ไกลเดอร์มีรายงานพบได้บ้าง โดยส่วนมากมีปัจจัยเสี่ยงมาจากอายุที่มากขึ้น ภาวะอ้วน ได้รับสารอาหารไม่สมดุล เป็นต้น โดยมักพบเป็นความผิดปกติของกล้ามเนื้อหัวใจ เมื่อมีความผิดปกติในระดับไม่รุนแรงอาจไม่พบอาการแสดงใดๆเลย แต่เมื่อโรคดำเนินไปถึงจุดที่เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวแล้ว จะพบการท่วมของน้ำเข้าสู่ถุงลมปอด ช่องอก ช่องท้อง ทำให้สัตว์มีอาการหายใจลำบาก เยื่อเมือกม่วงคล้ำ ท้องกาง บวมน้ำตามตัว หมดสติจนถึงขั้นเสียชีวิตเฉียบพลันได้
การวินิจฉัยทำได้โดยการซักประวัติ ตรวจร่างกาย และใช้ X-ray เพื่อประเมินขนาดหัวใจและดูภาวะน้ำท่วมในช่องอก อัลตราซาวน์หัวใจ(Echocardiography) เพื่อประเมินการทำงานของหัวใจ ร่วมถึงการวัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจเพื่อประเมินจังหวะหัวใจที่ผิดปกติ
การรักษาโรคหัวใจ เน้นไปที่การควบคุมภาวะหัวใจล้มเหลว โดยใช้ยาขับน้ำ และอาจใช้ยาเพื่อช่วยเพิ่มแรงบีบตัวของหัวใจในรายที่มีแรงบีบของกล้ามเนื้อหัวใจแย่ นอกจากนี้ยังอาจใช้สารอาหารเพื่อช่วยพยุงเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจ สำหรับสัตว์ป่วยที่มีปัญหาภาวะหัวใจล้มเหลวจะต้องมาติดตามอาการต่อเนื่องอย่างใกล้ชิดเพื่อปรับขนาดยาให้เหมาะสม
18 มี.ค. 2568
27 มี.ค. 2568