หญ้าสด กับ หญ้าแห้ง ให้กระต่ายเลือกกินอะไรดี?

Last updated: 18 มี.ค. 2568  |  107 จำนวนผู้เข้าชม  | 

หญ้าสด กับ หญ้าแห้ง ให้กระต่ายเลือกกินอะไรดี

การกินหญ้าสดและหญ้าแห้งในกระต่าย เลือกอะไรดี?
โดย ผศ.น.สพ.ดร.สมโภชน์ วีระกุล (อาจารย์แก้ว)

คำถามเหล่านี้ได้ตอบกันมาหลายๆ ครั้ง น่าจะนานกว่า 20 ปี และคงได้ตอบไปเรื่อยๆ ตราบใดที่มีผู้สนใจเลี้ยงกระต่าย และมีผู้เลี้ยงหน้าใหม่ ซึ่งเมื่อได้รับฟังคำแนะนำหรืออ่านจากผู้รู้หรือสัตวแพทย์บางท่านจากต่างประเทศก็อาจรู้สึกขัด หรือเห็นคล้อยตามได้ และหลายท่านก็อดสงสัยไม่ได้ว่าเหตุใดจึงแนะนำแตกต่างกัน ที่จริงไม่ว่าประเทศใดก็ควรมีหลักวิชาการด้านสุขภาพเดียวกัน แต่ไม่ใช่ความรู้จะส่งถึงทุกคน ยังเกี่ยวข้องกับความเข้มงวดกับการเลี้ยงและการดูแลสุขภาพแตกต่างกันว่าแค่ไหน และที่สำคัญต้องมีการวิจัยด้านสุขภาพรองรับ มีการอัพเดตข้อมูลใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง ให้ทันสมัยอยู่เสมอ

ตัองลงลึกๆ ในเนื้อหญ้า จึงจะเข้าใจเหตุผลการเลือกหญ้า เราเลือกหญ้าไม่ว่าชนิดใดก็ตาม สำหรับกระต่าย จะเลือกผ่านบทบาทของเยื่อใยอาหาร และยังมีระดับของโปรตีนที่อยู่ในหญ้า และหญ้าแต่ละชนิด แต่ละช่วงอายุ แต่ละการเก็บเกี่ยว และคุณภาพการเพาะปลูก อากาศ น้ำ และดิน ล้วนมีอิทธิพลและทำให้คุณค่าของหญ้าแตกต่างกันอย่างมาก

ประการแรก: บทบาทของเยื่อใยอาหาร

เป็นส่วนสำคัญสำหรับการเลือกหญ้าประการแรก หญ้าจะให้เยื่อใยสองกลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่มเยื่อใยย่อยได้ ที่สัตว์กินพืชจะนำไปใช้หมักในกระเพาะหมัก เป็นแหล่งอาหารหลัก และได้เป็นพลังงาน ได้แก่ เพกติน และเฮมิเซลลูโลส และอีกกลุ่มเป็นเยื่อใยชนิดย่อยไม่ได้ แต่ทำหน้าที่สำคัญมากๆ สำหรับช่วยกระตุ้นทางเดินอาหารให้มีการทำงานตามปกติ ได้แก่ ลิกนิน และเซลลูโลส

สัดส่วนของเยื่อใยเหล่านี้จึงต้องเหมาะสม โดยพบว่าเยื่อใยย่อยได้จะมากในพืชอายุน้อย ผัก และผลไม้ แต่ตรงกันข้ามพบว่ามีเยื่อใยย่อยไม่ได้ต่ำ กระต่ายที่กินสิ่งเหล่านี้เป็นหลักจึงได้รับเยื่อใยย่อยไม่ได้ไม่เพียงพอ และมักเกิดโรคลำไส้อืด และเสียสมดุลจุลินทรีย์ตามมา เป็นเหตุให้กระต่ายเสียชีวิตตั้งแต่อายุยังน้อยได้ ในสมัยก่อนมากกว่า 15 ปี จึงพบว่ากระต่ายที่เลี้ยงในไทยอายุไม่ยืน อยู่ระหว่าง 4-6 ปีเท่านั้นเอง ต่างจากปัจจุบันที่กระต่ายเลี้ยงมีอายุเฉลี่ยเพิ่มขึ้น และกลุ่มผู้เลี้ยงรุ่นดั้งเดิมที่เลี้ยงเหมาะสมขึ้น กระต่ายล้วนอายุเกิน 10 ปีเป็นจำนวนมาก และอายุยืนเกิน 14 ปีไปแล้ว

ขณะที่พืชที่เริ่มแก่จะสร้างเปลือกหรือผนังเซลล์มาก ทำให้สัดส่วนของเยื่อใยชนิดย่อยได้ต่ำ ขณะที่เปลือกไม้เป็นแหล่งของเยื่อใยย่อยไม่ได้ ทำให้กระต่ายที่ได้รับหญ้าแก่มีอาการผอม และแคระแกรนตั้งแต่วัยเด็ก แต่กลับพบการขับถ่ายได้ดี มูลเม็ดใหญ่ เพราะมีเยื่อใยย่อยไม่ได้สูงและกระตุ้นการขับถ่ายได้ดี แต่นั่นก็ไม่ใช่หญ้าในช่วงอายุที่เหมาะสม

นอกจากนี้ยังพบว่าพืชอายุน้อยไป ผัก และผลไม้จะให้สัดส่วนของเพกติน น้ำตาล และแป้ง (คาร์โบไฮเดรต) สูง ซึ่งจะถูกนำไปใช้โดยแบคทีเรียแลคติก (lactic bacteria) เกิดเป็นกรดแลคติกในลำดับแรกๆ หากปริมาณของเพกติน และแป้ง มีสัดส่วนพอดี จะช่วยให้มีการสร้างกรดในระดับที่เหมาะสม และอัตราเจริญเติบโตของกระต่ายจะดีมากแต่หากคาร์โบไฮเดรตมากเกินไป จะเกิดการหมักได้เป็นกรดแลคติกปริมาณมาก ทำให้เกิดภาวะกรดต่ำมากในทางเดินอาหาร กระต่ายเกิดความเจ็บปวดช่องท้องหรือปวดเสียด กระตุ้นให้เกิดการอักเสบในทางเดินอาหาร และกระตุ้นการสร้างฮีสตามีนทั่วร่างกาย มีผลต่อสุขภาพที่หลายคนไม่ทันสังเกตกระต่ายตนเอง อาการที่เห็นได้จะเป็นการนั่งขดตัว ซึม เบื่ออาหาร และขับถ่ายผิดปกติ ในบางรายอาจสังเกตเห็นการไม่กินมูลอ่อนหรืออึพวงองุ่น ถ่ายเป็นมูก และเป็นวุ้น ไปจนถึงมีพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ เช่น แทะพรม สายไฟ กระดาษ สิ่งแปลกปลอม (อ่านเพิ่มเติมในหัวข้ออื่นๆ ใน epofclinic) สุดท้ายมักจะพบภาวะลำไส้อืดและลำไส้อักเสบรุนแรง และเสียชีวิตได้

ส่วนพืชอายุมาก หญ้าที่แก่เกินไป มักพบในการเก็บเกี่ยวของแพงโกล่าที่ล่าช้า รวมถึงกลุ่มฟางข้าว จะให้ลิกนิกและเซลลูโลสมากเกินไป เกิดการขับถ่ายที่ดี แต่กลับให้คุณค่าทางโภชนาการต่ำลง สัตว์จึงมักจะผอม แคระแกรน แท้งลูก ไม่เลี้ยงลูก เป็นต้น และยังทำให้ทางเดินอาหารเป็นด่าง เสี่ยงต่อการเสียสมดุลของจุลินทรีย์ เพราะเชื้อที่เป็นประโยชน์มักอาศัยในภาวะกรดได้ดี และเกิดลำไส้อักเสบจากแบคทีเรียก่อโรคที่มักเจริญได้ดีในภาวะด่างของทางเดินอาหาร อย่างไรก็ตามข้อดีของเปลือกไม้จากพืชแก่ ยังช่วยในการสึกของฟันตามธรรมชาติ เพราะมีซิลิกา เคราติน และคิวติน ในปริมาณที่เพิ่มขึ้น

ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะบอกว่าหญ้าอะไรดีกว่าอะไร จนกว่าจะวิเคราะห์ออกมา หรือดูผลจากการใช้หญ้าทั้งในระยะสั้นและระยะยาว และหญ้าที่ขายทั่วไปก็มักจะโฆษณาคล้ายๆ กัน ขึ้นกับความนิยมในช่วงนั้น ผู้เลือกใช้จึงต้องพิจารณาเพิ่มเติม ดังนี้

หญ้ากระต่ายควรมีเยื่อใยหยาบรวมสูง ในหญ้าส่วนใหญ่จะมีเยื่อใยหยาบ (crude fiber) ประมาณร้อยละ 30-34 หญ้าที่เหมาะสมในช่วงกระต่ายช่วงหลังหย่านมและเจริญเติบโต จะแยกเป็น nutral detergent fibers: NDF (เฮมิเซลลูโลส ลิกนิน และเซลลูโลส) ร้อยละ 30 และ acid detergent fiber: ADF (ลิกนินและเซลลูโลส) ไม่น้อยกว่าร้อยละ 18 โดยที่ต้องมีเยื่อใยที่ย่อยได้หรือละลายได้มากขึ้นเป็นร้อยละ 12 ในอาหารทั้งหมด หรือหากเทียบเฉพาะในกลุ่มเยื่อใยอาหารสำหรับกระต่ายทั่วไป โดยพบว่าสัดส่วนที่เหมาะสมจะทำให้ชั้นเยื่อบุผิวของผนังทางเดินอาหารแข็งแรง ปรับสมดุลจุลินทรีย์ซึ่งจะช่วยป้องกันเชื้อโรค และกระตุ้นการขับถ่ายเป็นปกติ พบว่าเยื่อใยชนิดย่อยได้จะอยู่ระหว่างร้อยละ 10-35 ขณะที่เยื่อใยย่อยไม่ได้จะมีสัดส่วนมากกว่าระหว่างร้อยละ 65-90 ของเยื่อใยทั้งหมดโดยสัดส่วน (Gomez-Conde et al., 2007; De Blas & Mateos, 2010; Trocino et al., 2012)

ประการที่สอง: โปรตีน

ระดับโปรตีนในพืชก็สำคัญและใช้เป็นอีกส่วนในการประเมินเกรดของหญ้า หญ้าแต่ละชนิดให้โปรตีนไม่เท่ากัน อายุในการเก็บเกี่ยวมีอิทธิพลทำให้มีความแตกต่าง หญ้าในอเมริกาและยุโรปจึงแบ่งเกรดเป็นซูเปอร์พรีเมี่ยม พรีเมี่ยม หรือธรรมดา และแบ่งคุณภาพตามจำนวนครั้งที่ตัด เป็นการตัดครั้งที่ 1 ถึง 3 แต่ละช่วงมีการจัดการบริหารแปลงหญ้าและบำรุงหญ้าเป็นอย่างดี เมื่อได้หญ้าจากการเก็บเกี่ยวก็นำไปวิเคราะห์คุณค่าทางโภชนาการ เพื่อแบ่งเกรดหญ้า ซึ่งมักใช้ผลของโปรตีนอ้างอิง หญ้าที่มีคุณภาพสูง อย่างเช่น ทิโมธี มักพบโปรตีนระหว่างร้อยละ 8-12 หรือดีกว่านั้นก็พบได้ โอ๊ตร้อยละ 10 ขณะที่อัลฟัลฟ่าซึ่งเป็นพืชตระกูลถั่วจะให้โปรตีนสูงกว่าหญ้าที่ระหว่างร้อยละ 15-21 แต่หากปลูกและอายุการเก็บไม่เหมาะสม ระดับโปรตีนจะลดลงต่ำมาก จนอยู่ในระดับไม่เหมาะสม อาจจะถึงร้อยละ 1-3 และมักพบในหญ้าท้องถิ่น และหญ้าที่ไม่มีการจัดการแปลงหญ้าที่ดี ทั้งที่หลายชนิดเป็นหญ้าที่ดี

พืชที่มีโปรตีนสูงจะส่งเสริมการเจริญเติบโตได้ดี จึงพบว่ามักมีการแนะนำใช้อัลฟัลฟ่าในลูกกระต่าย ซึ่งยังใช้เสริมแคลเซียมในการสร้างกระดูกในวัยนี้ และตามด้วยทิโมธีที่เป็นหญ้าที่ให้ระดับโปรตีนมากเมื่อเทียบกับหญ้าชนิดอื่น และยังพบว่าเหตุที่ทำให้หญ้าทิโมธีเป็นหญ้าที่ดีที่สุดสำหรับกระต่ายโต ซึ่งอยู่ในระยะธำรงดุล รักษาน้ำหนัก รักษาสุขภาพ นอกจากระดับโปรตีนอยู่ในระดับพอดีสำหรับสัตว์แล้ว (ไม่สูงแบบพืชตระกูลถั่วหรือต่ำเหมือนหญ้าทั่วไป แต่ยังถือว่าต่ำเมื่อเทียบกับใบไม้และธัญพืชหลายชนิด: low to moderate protein) ยังพบว่ามีระดับของเยื่อใยย่อยได้สูง ทำให้จุลินทรีย์นำไปใช้หมักได้ในระดับที่เพียงพอต่อความต้องการ และเยื่อใยย่อยไม่ได้เฉลี่ยร้อยละ 66.6 หรือยังอยู่เกณฑ์เยื่อใยที่เหมาะสม (Trocino et al., 2012) นอกจากทิโมธี จะเลือกหญ้าชนิดอื่นๆ ก็ย่อมทำได้ หากเราทราบระดับสารอาหาร หรือประเมินจากสุขภาพแล้วเห็นว่าดีแล้วตามความพึงพอใจ อย่างไรก็ตามสัดส่วนของเยื่อใยอาหารก็เป็นส่วนหนึ่งที่ต้องคำนึงถึงเสมอ

นอกจากระดับของเยื่อใยอาหารและโปรตีนที่สำคัญแล้ว การพิจารณาคุณสมบัติของหญ้าอื่นๆ ได้แก่ ความเขียว กลิ่นหอม รสชาติ ไม่มีสิ่งแปลกปลอมหรือวัชพืชเจือปน และมีความชื้นต่ำเพื่อป้องกันการปนเปื้อนเชื้อรา และบางกรณีอาจพิจารณาไปถึงระดับของโภชนาการอื่นๆ ได้แก่ ไขมัน คาร์โบไฮเดรตวิตามินและแร่ธาตุที่สะสม เช่น แคลเซียม โพแทสเซียม รวมไปถึงความสามารถในการย่อยได้ของสัตว์ และพลังงานรวม เป็นต้น

ในอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์ ที่ใช้หญ้าปริมาณมากและตลอดปี จึงจำเป็นต้องมีวิธีการถนอมหญ้าเหล่านี้นอกฤดูกาลเพาะปลูก เพื่อรักษาคุณภาพและสัตว์มีกินตลอดทั้งปี ดังนั้น นอกจากชนิดหญ้าที่ดี การเพาะปลูกที่ดี การเก็บเกี่ยวที่ดี ยังต้องมีการเก็บรักษาที่ดีอย่างมากร่วมด้วย หญ้าแห้งที่ได้รับกระบวนการที่เหมาะสมจึงรักษาคุณภาพและคุณค่าไว้ได้ และได้รับความนิยม ในประเทศไทยไม่สามารถปลูกหญ้าชั้นดี อย่างเช่น ทิโมธีได้ จึงจำเป็นต้องใช้หญ้าที่ผ่านการถนอมรักษาแล้วมาดูแลต่อเป็นอย่างดีในโรงเก็บที่ควบคุมอุณหภูมิ แสง และความชื้น รวมไปถึงแหล่งหญ้าและพืชชนิดอื่นๆ ที่ต้องมีแหล่งที่มาที่มีคุณภาพ

ชนิดหญ้าที่ปลูกในไทยที่ให้คุณภาพที่ดีก็มีมาก แต่ยังต้องพัฒนาแปลงหญ้าในระดับเกษตรกร และส่งเสริมการเพาะปลูกที่ให้คุณภาพสูง ทั้งเลือกชนิดหญ้าและกระบวนการที่ดี เมื่อได้ก็ควรทำการวิเคราะห์คุณสมบัติ

ที่จริงไม่ว่าจะเป็นหญ้าสดหรือหญ้าแห้งต่างก็มีดีทั้งนั้น และถ้าหากพบว่าคุณสมบัติเมื่อวิเคราะห์ออกมาแล้ว ทั้งหญ้าสดและหญ้าแห้งมีค่าไม่แตกต่างกัน หรือชนิดของหญ้าที่เลือกกินมีคุณภาพสูง หญ้าสดจะมีข้อดีมากกว่าที่ความน่ากิน เขียวสด หอม นุ่ม คุณค่าอาหารกลุ่มวิตามินที่คงสภาพได้ดีกว่า และส่งเสริมพฤติกรรมตามธรรมชาติ แต่ข้อเสียคือไม่สามารถเก็บไว้ได้นานและเสี่ยงปนเปื้อนเชื้อราเพราะมีความชื้นสูง และหากมาจากหญ้าท้องถิ่นไม่ทราบชนิดหรือการจัดการแปลงหญ้าไม่เหมาะสม เราอาจจะไม่ได้มั่นใจว่าหญ้านั้นดีเสียทีเดียว

นอกจากนี้ สถิติความเจ็บป่วยในกลุ่มที่กินแบบไม่เลือกย่อมสูงกว่ากลุ่มที่กินแบบปราณีต นั่นคือ ให้ระมัดระวังการกิน ยกตัวอย่างผลวิจัย ในกลุ่มกระต่ายที่มีการเสริมผักและผลไม้ ที่ไม่ควรกินเกินร้อยละ 5 ของอาหารทั้งหมด โดยในรายงานเปรียบเทียบพบว่ากระต่ายที่กินผัก ผลไม้ และของกินเล่น มีอัตราส่วนของความเจ็บป่วยมากกว่ากระต่ายที่ไม่ได้รับสิ่งเหล่านี้ถึง 5.29 เท่า (p<0.05) แม้ว่าจะให้อาหารที่มีเยื่อใยอาหารสูงหรือหญ้าอย่างไม่จำกัดแล้วก็ตาม เช่นกันหากกระต่ายกินหญ้าได้น้อย หรือน้อยกว่าร้อยละ 75 ของอาหารทั้งหมดหรือไม่ชอบกิน จะพบภาวะป่วยด้วยลำไส้อืดสูงถึงร้อยละ 92 เมื่อเทียบกับตัวที่กินหญ้ามากเป็นหลัก นั่นเป็นเหตุผลว่าเหตุใดจึงเข้มข้นในการรักษาสัดส่วนและเลือกพืชให้กระต่าย

สัตวแพทย์ส่วนใหญ่จึงระมัดระวังในการให้คำแนะนำการกินพืชที่ควบคุมไม่ได้ หรือไม่ทราบข้อมูล และระมัดระวังการสื่อสารที่คลุมเครือไม่ชัดเจน การเข้มงวดในการกินแบบปราณีตจึงมักเป็นทางเลือกเพื่อป้องกันความเจ็บป่วยอย่างแน่นอน และช่วยให้สัตว์มีอายุยืน

ในเชิงการเลี้ยง ไม่ว่าจะให้กินอะไร ทั้งหญ้าสดและหญ้าแห้ง ผู้เลี้ยงจึงต้องประเมินอาการด้วยความใกล้ชิดด้วยตนเองเป็นเบื้องต้นก็ถือเป็นการเลี้ยงแบบปราณีตได้เช่นกัน เช่น การสำรวจมูลแข็งที่มีขนาดสม่ำเสมอเท่านั้น ขนาดระหว่าง 0.5-1.0 เซนติเมตร ไม่พบมูลอ่อน ไม่พบมูกหรือวุ้น ไม่พบอาการปวดช่องท้องและท้องกางแบบสะสมแก๊ส ไม่มีประวัติลำไส้อืด และโรคปริทนต์ จะถือว่าดี และใช้หญ้าชนิดนั้นๆ ต่อเนื่องได้ สิ่งที่ควรเพิ่มโดยให้หมั่นตรวจสุขภาพและสำรวจด้วยการเอกซเรย์ในการสะสมของแก๊สในทางเดินอาหาร แบบนี้จะช่วยให้มั่นใจในเรื่องการเลือกกินได้มากขึ้น

จะเห็นว่าผู้เลี้ยงจำนวนมากเลือกจะให้กินหญ้าแห้งเพราะคุมคุณภาพจากแหล่งผลิตได้ เมื่อตรวจสุขภาพมักไม่พบปัญหา โดยไม่พบการสะสมของแก๊ส การขับถ่ายที่ดี และการหาหญ้าสดบางพื้นที่ไม่สะดวกเลย และก็ดูเหมือนเราจะคิดแทนกระต่ายว่าคงขาดความสุข เป็นเรื่องที่ดี ก็ให้พิจารณาเสริมทรีทที่ทำมาเพื่อสุขภาพ และหญ้าสดที่คัดแล้ว ซึ่งไม่ควรเป็นพืชอายุน้อย เช่น ผัก หรือหญ้าอ่อนหรือยอดหญ้าที่เยื่อใยอาหารมักจะต่ำ ในปริมาณมาก ให้เสริมเพื่อส่งเสริมพฤติกรรมและคุณภาพชีวิต เมื่อมีการใช้ ก็ควรสังเกตอาการใกล้ชิด ตรวจสุขภาพปีละ 1-2 ครั้งเป็นประจำ และพบสัตวแพทย์ทันทีเมื่อพบอาการไม่ขับถ่าย ขับถ่ายลดลง ขนาดมูลไม่สม่ำเสมอ และเบื่ออาหาร เป็นต้น 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้