สัตว์เลื้อยคลานเกิดภาวะโรคลมร้อนได้หรือไม่!?

Last updated: 13 มี.ค. 2568  |  93 จำนวนผู้เข้าชม  | 

สัตว์เลื้อยคลาน เกิดภาวะโลกลมร้อน ได้หรือไม่?

สัตว์เลื้อยคลานเกิดภาวะโรคลมร้อนได้หรือไม่!? Heatstroke or Hyperthermia in Reptiles
โดย น.สพ. พงศ์ภัค พิทักษ์พงค์ (หมอพี) โรงพยาบาลสัตว์ขวัญคำ ขอนแก่น
.
สัตว์เลื้อยคลานสามารถเกิดฮีทสโตรกหรือภาวะโรคลมร้อนหรือลมแดด (Heatstroke) ได้เหมือนกับกับสัตว์ชนิดอื่นทั่วไป เพียงแต่อาการที่แสดงออกมาจะสังเกตุยากกว่า มาลองอ่านกัน
.
เมื่อสัตว์เลื้อยคลานที่ถูกนำมาเลี้ยง ไม่สามารถเลือกได้ว่าจะต้องไปหลบซ่อนความร้อนได้ที่ไหน ในพื้นที่การเลี้ยงที่จำกัด จึงเสี่ยงต่อการเกิดภาวะอุณหภูมิร่างกายที่สูงขึ้น (hyperthermia) เมื่อเข้าสู่ฤดูร้อนหรือแม้กระทั่งในฤดูอื่นที่ร่างกายสัตว์สัมผัสกับความร้อนโดยตรงจึงเกิดภาวะที่เราเรียกกันว่าฮีทสโตรกได้เช่นกัน จากการที่ร่างกายสร้างความร้อนหรือดูดซับความร้อนจากสิ่งแวดล้อมไว้โดยไม่สามารถรักษาสมดุลความร้อน (thermoregulation) โดยเปลี่ยนแปลงตัวเซทพอยต์ (set point) ของอุณหภูมิที่ไฮโปธารามัส ได้เหมือนกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม
ในธรรมชาติ สัตว์เลื้อยคลานจะเลือกหลบเมื่ออุณหภูมิแตกต่างจากช่วงอุณหภูมิที่เหมาะสมของการดำรงชีพ (preferred optimal temperature zone) มากๆ อุณหภูมิที่เป็นอันตรายคือ สูงกว่า 36 องศาเซนเซียส และต่ำกว่า 4 องศาเซนเซียส เมื่อสัมผัสนานๆ ทำให้ตายได้ จะเกิดการจำศีลฤดูหนาวและฤดูร้อน หรือลดกิจกรรมต่างๆ ลง เช่น อากาศที่ร้อนมากในเขตทะเลทราย สัตว์จะหลบลงหลุมลึกหรือเลือกกบดานบริเวณป่าเชื่อมต่อระหว่างทะเลทรายและป่าไม้พุ่ม (subland) เรียกว่าการจำศีลชั่วคราว (Aestivation) หากอากาศร้อนมากจนเป็นอันตราย ระยะเวลาในการจำศีลจะยาวนานออกไป แล้วเลือกออกหากินในเวลาอากาศเย็นลง แต่สัตว์เลื้อยคลานในเขตหนาวจะพบการจำศีลตลอดฤดูกาล (Hibernation) ได้
.
เมื่ออุณหภูมิสิ่งแวดล้อมที่สูงเกินไปทำให้สัตว์เลื้อยคลานได้รับความร้อนมากกว่าที่จะสูญเสียไปทำให้อุณหภูมิร่างกายสูงเกินความจำเป็น ผลที่ตามมาทำให้ สัตว์มีภาวะแห้งน้ำฉับพลัน ความดันเลือดลดลงส่งผลต่อการกระจายของเลือด (blood perfusion) ไปที่สมอง ไต ตับ และอวัยวะสำคัญอื่นๆ ลดลง ทำให้อวัยวะสำคัญขาดเลือด (ischemia)
.
ปัจจัยโน้มนำที่สัมพันธ์กับการได้รับความร้อนมากเกินไป นอกจากพื้นที่ไม่เพียงพอแล้วมักสัมพันธ์กับสถานที่เลี้ยงแบบเปิดโดยไร้ร่มเงา อากาศถ่ายเทไม่ดี ขาดแหล่งน้ำ ขาดหลุม โพรง หรือพื้นสำหรับการขุดที่ลึกพอ สัตว์อ้วนทำให้ระบายความร้อนไม่ดี สัตว์อายุมาก การเลี้ยงที่หนาแน่น การขนส่ง ความเครียด หรือแม้กระทั่งการวางยาสลบ
พื้นที่การอยู่อาศัยตามธรรมชาติ สัตว์ที่อาศัยอยู่ในมหาสมุทรมีความปลอดภัยสูงกว่า ในเชิงระบบนิเวศน์ พบว่าสิ่งแวดล้อมมีความแปรปรวนน้อย เรียกว่าเหมือนๆ เดิม (homogeneous environment) แม้กระทั่งอุณหภูมิเองแทบจะไม่เกิดผลกระทบกับทะเลลึกเลย แตกต่างจากสัตว์ที่อาศัยบนบก จะต่างกัน เรียกว่า เฮทเทอโรจีนีตี (heterogeneity) สัตว์จะมีพฤติกรรม เรียนรู้ และปรับตัวตามธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลง โดยการอพยพหลบหนี หลบซ่อน และขุดหลุม เป็นต้น การไม่สามารถเลือกที่อยู่ได้ และการจัดการไม่เหมาะสมจึงเสี่ยงต่อการเกิดภาวะโรคลมร้อนได้เช่นกัน
จากปัจจัยข้างต้น นอกเหนือการจัดการพื้นที่และการเลี้ยง ในทางปฏิบัติผู้เลี้ยงและสัตวแพทย์ผู้ดูแลจึงต้องทำการเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ วัดอุณหภูมิ ความชื้นอยู่เสมอ อุณหภูมิน้ำที่ร้อนเกินไปในสัตว์เลื้อยคลานอาศัยในน้ำ ประเมินความลึกและความกว้างของบ่อเลี้ยง ความชื้นที่สูงเกินไปทำให้การถ่ายเทอากาศไม่ดี มีผลให้เสี่ยงต่อภาสะโรคลมร้อนเพิ่ม แม้กระทั่งการอาบแดดโดยตรงท่ามกลางแดดจ้า
สัตว์เลื้อยคลานรับรู้ภาวะร้อนได้อย่างไร ต่างจากสัตว์ชนิดอื่นหรือไม่?
ข้อหนึ่งที่สัตวแพทย์และนักวิชาการสัตว์ทราบกันคือ สัตว์เลื้อยคลานจะมีความสามารถรับรู้ความร้อนจากปลายประสาทได้แย่มาก เมื่อเทียบกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม จึงมักพบอาการไหม้ตามผิวหนัง และพบเห็นบ่อยๆ ในงูที่ไปพันหลอดไฟกก แต่สัตว์เหล่านี้สามารถรับรู้ความร้อนได้จากทางอื่นได้ดี ได้แก่ ตัวรับอินฟาเรด (infrared receptors) ในพิทออแกนส์ (pit organs) ซึ่งพบในบางชนิด และอวัยวะสำคัญมากคือต่อมไพเนียล ที่ทำหน้าที่ได้ดีในการรับทั้งแสงและความร้อน ซึ่งสัตว์เลื้อยคลานส่วนใหญ่ใช้กลไกด้านสรีระนี้ ส่วนจระเข้จะมีอวัยวะคล้ายโดมบนหัวของมัน เรียกว่า ตัวรับแรงดันแบบโดม (dome pressure receptors) ซึ่งจะมีเส้นประสาทไตรจีมินัลมาเลี้ยง ช่วยประเมินอุณหภูมิรอบกายได้
.
อาการส่วนใหญ่ที่สังเกตุได้ เช่น อ่อนแรง เกาะคอนไม่อยู่ แห้งน้ำ การขับถ่ายลดลง อ้าปาก หายใจหอบ น้ำตาไหล ไม่มีสติ หรือชักจนเสียชีวิตได้ในรายที่อุณหภูมิสูงมากๆ บางรายพบแผลไหม้ที่ผิวหนัง รายที่รุนแรงจะพบอวัยวะภายในร้อน เกิดการอักเสบและสูญเสียหน้าที่
หากเข้าใจเรื่องการเข้าสู่ภาวะจำศีลชั่วคราว พบว่าอากาศร้อนจะไปลดระดับเมตาบอลิสมหรือการเผาผลาญในร่างกายให้ลดลงไม่ต่างการจำศีลฤดูหนาวในต่างประเทศที่เป็นเมืองหนาว จึงมักจะเห็นการหยุดเคลื่อนไหว และหากอุณหภูมิไม่ปรับมาสู่ช่วงที่เหมาะสม สัตว์จะตาย
กลไกที่สัตว์เลื้อยคลานพยายามปกป้องตัวเองอย่างอื่นมีไหม นอกจากที่กล่าวมาแล้วข้างต้น?
การป้องกันตัวเองส่วนใหญ่เป็นการปรับพฤติกรรมการดำรงชีพ (behavior adaptation) แต่มีกลไกหนึ่งที่ไม่ค่อยรู้จักกันแพร่หลาย เรียกว่า การผันแปรของอัตราการเต้นของหัวใจ (heart rate hysteresis) ขออนุญาตเขียนแบบนี้ เพราะอธิบายตามชื่อได้ยาก แต่อธิบายเป็นกลไกได้ดังนี้ เป็นกลไกที่เกิดขึ้นจากผลที่สิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไปแล้ว ร่างกายจะเริ่มโต้ตอบผ่านสองกระบวนการช้าๆ แม้ว่ากระบวนการแรกจะบอกว่าเกิดแทบจะทันที แต่ช้าและอาจเนิ่นนาน โดยพบว่าอัตราการเต้นของหัวใจจะเพิ่มขึ้น เมื่ออุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นแล้ว (ซึ่งเป็นไปได้ว่าทั้งที่สิ่งแวดล้อมร้อนมากๆ แล้วมาตั้งนาน) จนกว่าสัตว์จะเข้าสู่ภาวะลดเมตาบอลิสมลง ในทางตรงกันข้ามอัตราการเต้นของหัวใจจะลดลง ถ้าอุณหภูมิต่ำลง ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมก็จะพบเช่นนี้ได้ โดยพบว่าอากาศเย็นจะลดอัตราการเต้นของหัวใจได้และลดความต้องการออกซิเจนลงเช่นกัน ในกระบวนการต่อมา จะเกี่ยวกับการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของพลอสตาแกลนดิน พลอสตาไซคลิน ไซโคออกซีจีเนส (COX) และไนตริกออกไซด์ ในภาวะที่ร่างกายร้อน จะมีการยับยั้งสารเหล่านี้ เพื่อจะลดอุณหภูมิของร่างกายลง
การวินิจฉัยทำได้โดยการซักประวัติโดยละเอียด วัดอุณหภูมิ การตรวจร่างกาย
.
การรักษาควรทำโดยเร็วเมื่อพบภาวะโรคลมร้อน ด้วยการลดอุณภูมิแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่ควรลดอุณหภูมิเร็วเกินไป อาจทำให้สัตว์ช็อคได้ ร่วมกับการรักษาแบบประคับประคอง ได้แก่การให้สารน้ำและยาต้านการอักเสบแบบทั่วร่างกาย (SIRs) ที่เกิดขึ้นได้จากความร้อน
.
การป้องกันภาวะโรคลมร้อนในสัตว์เลื้อยคลาน
จัดการสถานที่อยู่ให้มีการระบายอากาศที่ดี มีร่มเงา และให้น้ำสะอาดที่เพียงพอ
จัดพื้นที่ให้พอสำหรับการเลือกอาศัย หลบภัย หลบซ่อน ขุดหลุม หรือบ่อน้ำ หรือจัดโซนเปียกและแห้งให้เหมาะ ให้สัตว์เลือกได้ หากเป็นสัตว์ที่อาศัยในน้ำควรลึกและกว้างมากพอที่จะลดผลกระทบจากอุณหภูมิได้ แม้ว่าผิวน้ำจะอุ่นแต่ช่วงก้นบ่อถึงกลางน้ำควรเย็นในระดับคงที่
ตรวจวัดอุณหภูมิและความชื้น ด้วยปรอทที่และไฮโกรมิเตอร์ที่แม่นยำ
หากอุณหภูมิในบริเวณเลี้ยงร้อนเกินไปควรลดอุณหภูมิช่วย เช่น พัดลม การสเปรย์น้ำ หรือการราดน้ำบนกรงเลี้ยง และอื่นๆ

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้